การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ประเด็นที่ 1 เพื่อศึกษาพฤติกรรมส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น ประเด็นที่ 2 เพื่อศึกษาการตัดสินใจการเลือกซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น และสุดท้าย ประเด็นที่ 3 เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบการตัดสินใจซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นิสิตเจนเนอเรชั่นแซด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 366 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมาน โดยใช้ค่า F-test (One-way ANOVA) ในกรณีพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการวิจัย พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001 – 10,000 บาท และรายได้มาจากการทำงาน ส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าจากระบบอินเทอร์เน็ต โดยซื้อสินค้าประเภทกระโปรง ซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ยการซื้อเดือนละ 1-2 ชิ้น จำนวนเงินที่ซื้อแต่ละครั้ง 1,001 – 2,000 บาท ช่องทางการชำระเงินที่สะดวกที่สุด คือ ชำระเงินผ่าน QR code โดยส่วนใหญ่มีเหตุผลการตัดสินใจซื้อจากชื่อเสียงของร้านค้า เพื่อสร้างบุคลิกด้านดึงดูดใจ และเพื่อให้ทราบว่าผู้ตอบแบบสอบตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านใดมากที่สุด คือ มลพิษทางอากาศ ผู้บริโภคใช้ปัจจัยส่วนประสมการตลาด (4Ps) ในการตัดสินใจซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้บริโภคใช้ปัจจัยส่วนประสมการตลาดในการตัดสินใจซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่นในระดับมากอันดับแรกคือ ด้านผลิตภัณฑ์ รองลงมาคือ ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านราคา และอันดับสุดท้ายคือ ด้านการส่งเสริมการตลาด และเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ด้านเพศที่แตกต่างกันไม่มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่ด้านรายได้และที่มาของรายได้ที่แตกต่างกันมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าอุตสาหกรรมแฟชั่น อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05